การวัดแสง แบบ Zone System, episode 2 : การถ่ายโซนด้วยฟิล์ม 4x5
กว่า 1 ปีผ่านไป จากบทความแรก การวัดแสง แบบ Zone System Episode I
อาจจะรอนานไปสักหน่อย วันนี้ เรามาต่อภาค 2 กันเถอะ
ก่อนอื่น ขอเกริ่นเรื่อง Zone System ปูพื้นก่อนนิดนึง สำหรับคนที่ไม่ได้อ่าน Episode 1 มาก่อน
ปกติโดยทั่วไป เครื่องวัดแสงแบบแสงสะท้อน ( Reflected Light) ที่เราใช้ในกล้อง หรือจากเครื่องวัดแสง มิเตอร์จะโชว์ค่า 0 หมายถึงค่าเทา 18 % หรือ โซน 5 เสมอ
เมื่อเอากล้อง หรือเครื่องวัดแสงแบบ spot ไปวัดแสงวัตถุสีดำ, วัตถุสีเทากลาง และวัตถุสีขาว
ผลที่ได้ก็จะเป็นดังภาพด้านล่าง ภาพที่กล้องถ่ายมาจะเป็นเทากลางหมด เพราะมิเตอร์วัดแสงในกล้องถูกตั้งให้มาพอดี 0 ที่ค่าสีเทาเสมอ
สมมุติรูปนี้ตั้งกล้องไว้โหมด M แล้วคงค่ารูรับแสงไว้ค่าเดียว เช่น f/11
- วัดกับค่าเทากลางได้ค่า 0 ที่ s 1/125
- วัดกับสีดำได้ค่า 0 ที่ s. 1/ 30
- วัดกับค่าสีขาวได้ค่า 0 ที่ s. 1/500
เพราะเมื่อกล้องถูกตั้งให้พอดีกับสีเทา พอไปวัดสีดำ กล้องจะบอกเราว่า แสง under ไป 2 stop ให้เราปรับสปีดช้าลงเป็น 1/30 หรือกลับกัน พอไปวัดสีขาว กล้องจะบอกเราว่า Over ไป ให้เราสปีดเร็วขึ้นเป็น 1/500
รูปถ่ายที่ได้ทั้งสามรูป เลยออกมาโทนเทา เท่ากันหมดครับ
วัตถุดำ-เทา-ขาว วัดแสงตามกล้อง จะถ่ายมาได้เทา 18% เสมอเท่ากันทั้งสามภาพ
การวัดแสงแบบ Zone System
ในระบบ Zone System จะมีการแบ่งค่าความสว่าง จากมืดสุดไปถึงสว่างสุดเป็นกลุ่มๆ หรือเรียกว่า Zone เริ่มจากมืดสุด Zone 0 ไล่ไปจนถึงสว่างสุด Zone 10
ระบบฟิล์ม 1 โซน จะห่างกัน 1 EV หรือ 1 stop พอดี
Zone System เราจะใช้วิธีวัดแสงเฉพาะจุด(Spot) แบบสะท้อน(Reflect) ในการวัดเพื่อมาวางโซนต่างๆในภาพ เนื่องจากเรารู้อยู่แล้วว่าเครื่องวัดแสงจะโชว์ค่าพอดีที่เทากลางเสมอ ตรงนี้เราจะกำหนดไว้เป็น Zone 5
เช่น สมมติมิเตอร์วัดได้ค่า 0 ได้ที่ f/11, s.1/125
จากรูปเสาที่ขาว เราถ่ายตามที่วัดได้ เสาจะเป็น Zone 5 สีเทากลาง ตามภาพตรงกลาง
ถ้าต้องการให้เสา สว่างขึ้นไป อยู่โซน 7 เราก็ปรับค่าการถ่ายให้ over ขึ้นไป 2 โซน เราก็ปรับสปีดจาก 1/125 เป็น 1/30 ตรงจุดนั้นก็จะเป็นโซน 7 (รูปขวา)
ในทางกลับกัน ถ้าเราต้องการให้ตรงจุดที่เราวัดนั้นเป็น Zone 3 คือในส่วนดำที่ยังมีรายละเอียด เราก็ปรับสปีด under ไป -2 stop จาก 1/125 เป็น 1/500 ภาพที่ได้ก็จะเป็น โซน 3 ครับ
Expose for Shadows – Develop for Highlights
การถ่ายโซนซิสเต็ม เราจะถ่าย (Expose) เพื่อเก็บ Shadows และล้างฟิล์ม เพื่อเก็บรายละเอียดส่วน Highlights
เพราะการถ่ายฟิล์มจะถ่ายพลาดในส่วน Shadows ไม่ได้ ถ้าถ่ายพลาดอันเด้อเกินไป ฟิล์มจะได้รับแสงน้อยเกินจะไม่เกิดเป็นเนื้อขึ้นในฟิล์ม เราเลยต้องวางโซนในส่วน Shadows ตอนถ่าย
ส่วนสว่าง Highlights นั้น เราสามารถควบคุมได้ ด้วยการเพิ่ม หรือ ลดเวลา ในการล้างฟิล์ม (Develop) ให้ฟิล์มในส่วนสว่าง หนาขึ้น หรือ บางลงได้
เพื่อความสะดวกในการวัดแสงวางโซน เราจะวัดค่าเป็นค่า EV ซึ่งเป็นตัวเลขตัวเดียว ที่ใช้งานง่ายกว่าดูเป็นค่า f-stop กับ Speed Shutter ที่ต้องจำทีละ 2 ค่าพร้อมกัน
Exposure Value (EV)
ค่าที่ใช้วัดความสว่างของแสงในการถ่ายภาพ
ค่า EV 0 เท่ากับ ปริมาณแสงพอดีที่ค่าความไวแสง ISO 100 ที่ f/1.0, S. 1 วินาที
จากตารางด้านบน สมมติว่าเป็นแดดจัดตอนกลางวัน จะได้ค่าประมาณ Ev 15 หรือเทียบเท่ากับ S. 1/125 วินาที่ ที่ เอฟ 16 (หรือที่เราเรียกว่า Sunny 16)
และถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ที่ เอฟ 22 สปีดก็จะเปลี่ยนเป็นที่ 1/60 โดยยังคงค่าที่ EV 15 เท่ากัน
ภาคปฎิบัติจริง
วิธีการคำนวณตอนออกถ่ายภาคสนาม
จากรูปตัวอย่าง
ผมวัดแสงในส่วน shadow ตรงรากไม้ ได้ EV 10
ในส่วน Hilight องค์พระได้ EV 15 และ ท้องฟ้าได้ EV 16
ถ้าผมเอาค่า 10 ไปวางไว้ โซน 3 ค่า 15 จะไปตกโซน 8 และค่า 16 จะไปตก โซน 9
ผมตัดสินใจเอา shadow ไว้ที่โซน 3 ก็ต้องถ่ายที่ค่าที่ลงช่องโซน 5 คือ EV 12
ผมเลือกใช้เอฟที่ 32 เพื่อให้ชัดจากหน้าสุดไปหลังสุด โดยใช้แอปคำนวน HyperFocal Distance เพื่อหาค่า F-stop น้อยสุดที่จะใช้ได้
ก็จะได้ค่าสปีดชัดเตอร์ที่ s.1/4 วินาที
ผมใส่ฟิลเตอร์ที่กินแสงไป 1 stop เพราะงั้นจะถ่ายจริง ลบไป 1 EV = s. ½, f/32
เวลาถ่ายฟิล์ม 4x5 ซึ่งเป็นฟิล์มแผ่นที่โหลดใส่ไว้ในโฮลเดอร์ 1 โฮลเดอร์มี 2 ด้าน ใส่ฟิล์มได้ 2 แผ่น
ผมก็จะถ่ายค่าเหมือนกันไว้ 2 แผ่น พร้อมกัน เพื่อเอามาใช้ในการล้างฟิล์ม โดยล้างทีละแผ่น ถ้าออกมาไม่ดี ยังมีให้ล้างแก้ตัวอีก 1 แผ่น
จากในรูป ผมเขียนค่าการล้าง (Development) ไว้ N-1
เพราะเมื่อวางโซนในส่วน Shadow แล้ว ท้องฟ้าไปตกโซน 9 ซึ่งสว่างไปกว่าที่ต้องการ ผมต้องการลดค่าลงมาเหลือที่ โซน 8
ตอนล้างฟิล์ม เลยต้องล้างลดเวลาล้างแบบ N- 1 โซน เพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการ คือจากถ่ายโซน 9 ลดลงมาเหลือโซน 8
เมื่อล้างฟิล์มเสร็จ ผมก็เอามาแสกนแบบ RGB 16 bit เพื่อเก็บรายละเอียดจากฟิล์มให้ได้มากที่สุด
แล้วทำไฟล์มาปรับแต่งในห้องมืดดิจิตอล ซึ่งก็คือโฟโต้ชอป เพื่อปรับแต่งคอนทราสภาพให้ได้ตามที่ต้องการ แล้วนำไฟล์ไฟล์ภาพมาพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ความละเอียดสูงแบบ 16 bit ที่มีเฉดเทาหลายตลับ เพื่อให้ได้งานภาพถ่ายคุณภาพสูง
ข้อมูลประกอบรูป
Camera : Wista 45 SP
Lens : Schneider Kreuznach 150 mm.
Filter : Yellow
Expose : s.1/2 sec, f/32
Film : ILFORD Delta 100 Pro EI 100
Dev. : N-1 ,DD-X 1:9 , 24 องศา
Scan : V800
Photo, Dev. and Scan : Somchai Suriyasathaporn
ขอจบ การวัดแสง แบบ Zone System, episode 2 แต่เพียงเท่านี้ครับ
เขียนที่บ้าน
23/11/2017
สมชายการช่าง
.......................
หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนเพื่อให้ความรู้เป็นวิทยาทาน สามารถแชร์ได้ตามสะดวก
แต่ไม่อนุญาติให้ก๊อปปี้แล้วไปแปะตามเว็บอื่นๆ หรือเอาไปแก้ไขดัดแปลงแล้วใส่ชื่อตัวเองแทน